ศาลาการเปรียญทรงไทยภาคกลาง
หลวงพ่อเอม เมตฺติโก (เจ้าอาวาสรูปที่๒) ผู้ดำริ ชักชวนศรัทธา สาธุชนร่วมสร้างศาลา
- ศาลาการเปรียญทรงไทยสถาปัตยกรรมภาคกลางตามประวัติที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ได้ก่อสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ในสมัยหลวงพ่อเอม เมตฺติโก เป็นเจ้าอาวาส ด้วยเพราะวัดเกาะวาลุการามนั้นเจ้าอาวาสเป็นคนภาคกลางและมีพระจากทางภาคกลางมาจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีอิทธิพลต่อการก่อสร้างศาลาหลังนี้ในแบบภาคกลาง คือมีลักษณะทรงหลังคาสูง ยกพื้นสูงจากพื้น ใต้ถุนศาลาสามารถใช้เป็นที่เก็บของชั่วคราวได้ หรือป้องกันน้ำท่วมตามลักษณะภูมิศาสตร์พื้นที่ลุ่มในจังหวัดภาคกลาง ในยุคนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านที่มีความสามารถทางด้านการก่อสร้างได้ร่วมกัน โดยมีคณะศรัทธาในชุมชนและถิ่นอื่นอุปถัมภ์
- ตัวศาลาไม้เสาชั้นบนศาลาเป็นไม้ เสาล่างเป็นคอนกรีต ด้านข้างใต้หน้าต่างเป็นฝาเลื่อนปิดเปิดช่องระบายลม เพดานเป็นกระเบื้อแผ่นเรียบที่แปลกสะดุดตา ตรงที่ทุกแผ่นมีชื่อผู้เป็นเจ้าภาพบริจาคเงินติดอยู่ หน้าบรรณเป็นลายไม้ฉลุยังคงสภาพความสวยงามของลายได้ชัดเจน พื้นศาลชั้นบนเป็นกระดานไม้เนื้อแข็งไม่มีปลวกกิน บันไดขึ้นด้านหน้า ๒ แห่งซ้ายขวา ด้านหลัง ๒ แห่งซ้ายขวา รั้วระเบียงเป็นลายปูนปั้นเทพพนม หลังคามุงด้วยกระเบื้องขอ ทรงสามเหลี่ยมสูงระบายน้ำได้ดีจึงไม่มีน้ำฝนรั่วไหลแม้ในเวลาฝนตกหนักก็ตาม ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้สรรสร้างไว้อย่างดีเยี่ยม
- ศาลาการเปรียญหลังนี้ใช้ในกิจกรรมงานบุญเอนกประสงค์ เช่น การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ทำบุญวันเข้าพรรษา ออกพรรษา งานทำบุญถ่ายอาหารเช้า ฟังเทศน์ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ประชุม ฯลฯ. ในวันพระอุบาสก อุบาสิกา ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม และพักค้างคืนได้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้หยุดใช้งานศาลหลังนี้เนื่องจากมีสภาพเก่า และใช้อาคารสถานที่อื่นประกอบกิจกรรมงานบุญแทน จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๕ ยังไม่ได้รับการบูรณเนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูงหลายล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมศิลปากร ๗ จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ทางวัดทำเรื่องของบประมาณไปครั้งหนึ่ง ได้รับแจ้งมาว่า จะได้รับการบูรณ ในต้นปี ๒๕๖๓ ด้วยงบประมาณ ๗๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่งบประมาณได้ตกไปจึงยังไม่ได้บูรณ ทางคณะกรรมการวัดและศรัทธาจึงได้ตกลงกันว่า ต้องดำเนินการหางบประมาณด้วยตนเองแล้ว จะรอช้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้เนื่องจากเกรงว่าจะชำรุดเสียหายหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ศาลาการเปรียญหลังนี้ปัจจุบันยังมีโครงสร้างที่แข็งแรงอยู่ สามารถเดินขึ้นไปชมได้ครั้งละหลาย ๆคนและเป็นที่น่าสังเกตุว่านักท่องเที่ยวที่ได้ผ่านเข้ามาในวัด จะให้ความสนใจศาลหลังนี้เป็นพิเศษ มักจะเดินดูถ่ายรูปรอบ ๆ และขึ้นไปชมศาลาเกือบทุกวัน โดยเฉพาะชาวต่างชาติ
- จึงเห็นว่าศาลาการเปรียญทรงไทยสถาปัตยกรรมภาคกลางหลังนี้ควรค่าแก่การซ่อมแซมบูรณและอนุรักษ์ไว้ให้เป็นศาสนสมบัติของประเทศชาติสืบต่อไป
Facebook Comments Box