ประวัติการสร้างพระพุทธรูปทองคำ
เจ้าภาพสร้างถวาย คุณประยูร แสงทองสุข และครอบครัว ได้มีศรัทธาสร้างศาลาทรงไทยถวายวัดเกาะวาลุการาม และสร้างพระพุทธรูปทองคำเพื่อประดิษฐานไว้ประจำบนศาลาทรงไทยแห่งนี้ เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้สามีที่ล่วงลับไป
พระพุทธรูปทองคำ น้ำหนัก ๑๒.๘ กิโลกรัม หน้าตัก ๙ นิ้ว สูง ๑๓ นิ้ว หรือหนัก ๘๔๕ บาท เป็นพระพุทธรูปแบบสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่งขัดสมาธิเพ็ชร์ เททองหล่อ เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค. ๒๕๓๙ ณ วัดเกาะวาลุการาม
ผู้ดำเนินการฝ่ายสงฆ์ พระครูสุเวทกิตติคุณ (หลวงพ่อบุญชุบ)
พระณรงค์ โฆษโก ,พระสมหมาย สุขกาโม
พระมหาเถระที่นั่งปรกอธิฏฐานจิต วันพิธีเททอง มีดังนี้
๑. ครูบาดวงดี สุภทฺโท วัดท่าจำปี จ.เชียงใหม่
๒. หลวงปู่เล็ก กลฺยาโณ วัดธรรมปัญญาราม จ.สุโขทัย
๓. หลวงปู่บุญชุบ ทินฺนโก วัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง
๔. หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ วัดป่าสำราญนิวาส จ.ลำปาง
๕. หลวงพ่อพระมหาสิงห์ วิสุทฺโธ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน
๖. พระมหาเถระเจ้าคณะต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง
หลังจากพิธีหล่อและการตกแต่งเสร็จสมบูรณ์ทั้งองค์แล้ว พระครูสุเวทกิตติคุณ (หลวงพ่อบุญชุบ ทินฺนโก) เจ้าอาวาสในเวลานั้นท่านได้เล็งเห็นว่าพระพุทธรูปทองคำนี้มีมูลค่าสูงเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ทางคณะกรรมการจึงเห็นสมควรฝากเก็บไว้ในธนาคารก่อน เวลาต่อมาการสร้างห้องนิรภัยได้ดำเนินแล้วเสร็จลง แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำพระออกจากธนาคารมาประดิษฐานที่วัดเกาะ.แต่อย่างใด จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๕ ซึ่งเป็นเวลานานถึง ๒๖ ปี
บัดนี้ทางเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันพร้อมคณะกรรมการและคณะสงฆ์ รวมถึงคณะศรัทธาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเห็นสมควรอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำออกมาประดิษฐานตามเจตนารมณ์ของผู้สร้าง เพื่อเป็นที่สักการะบูชาเป็นสิริมงคลแก่ชาวลำปางและพุทธศาสนิกชนสืบต่อไป
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ คณะกรรมการวัดเกาะวาลุการาม ได้ประชุมเพื่อตั้งนามพระพุทธรูปทองคำ โดยในชื่อนั้นควรมีคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชื่อหรือสกุลเจ้าภาพผู้สร้าง และได้เห็นพ้องต้องกันให้นามพระพุทธรูปทองคำนี้ว่า “พระพุทธมหามุนีศรีแสงทอง” ซึ่งคำว่า (แสงทอง) เป็นส่วนหนึ่งของนามสกุลผู้สร้าง คือ แสงทองสุข
ฤกษ์อัญเชิญพระออกจากธนาคาร
วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๔๕ น.
พิธีสมโภช พระพุทธมหามุนีศรีแสงทอง
วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๙ น.
ณ ศาลาทรงไทยวัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง
ศาลาทรงไทยหลังนี้ที่ประดิษฐานพระพุทธมหามุนีศรีแสงทอง